ออกแบบคลังสินค้าอย่างไร ให้เร็วทันใจ ปลอดภัยทันควัน
- ณัฐพล เลาหโชคบุญมา
- Dec 8, 2022
- 1 min read

การออกแบบ Rack ชั้นวางสินค้าที่สามารถตอบสนองต่อการใช้งานของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องเข้าใจความต้องการของผู้ใช้งานให้ได้มากที่สุด อย่าลืมว่าคลังสินค้าแต่ละแห่งนั้นมีโครงสร้างและความต้องการที่แตกต่างกัน ระบบชั้นวางหรือเลย์เอาท์ต่าง ๆ จึงไม่ใช่อุปกรณ์ชุดที่ตายตัวแต่จะมีปัจจัยบางประการที่สอดคล้องกันอยู่ ซึ่งขอเรียกปัจจัยเหล่านี้ว่า LAFFS อันได้แก่
Loading – น้ำหนักและขนาดของสินค้า (เป็นได้ทั้งกล่องและพาเลท) ซึ่งเป็นตัวกำหนดสเป็คของโปรไฟล์สำหรับเสาและคานของชั้นวางสินค้าเพื่อให้ตอบโจทย์เงื่อนไขความต้องการใช้งาน ยกตัวอย่างเช่น หากสินค้ามีขนาดใหญ่จุดศูนย์ถ่วงและการกระจายน้ำหนักจะแตกต่างกับสินค้าชิ้นเล็ก ๆ จำนวนมาก เป็นต้น
Area – การพิจารณาพื้นที่สำหรับจัดทำชั้นวางสินค้าทั้งแนวกว้าง ยาว สูง รวมถึงสิ่งกีดขวางต่างๆในพื้นที่ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นปัจจัยสำคัญในการวางโครงสร้างภาพรวม เช่น เสาอาคาร ตู้ดับเพลิง และท่อแอร์ องค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นตัววางโครงสร้างให้กับเงื่อนไขการบริหารจัดการพื้นที่อื่น ๆ อีกด้วย

Forklift – ขนาดของรถฟอล์คลิฟท์และความสูงที่รถสามารถทำงานได้นั้นส่งผลต่อการออกแบบชั้นวาง เพราะการออกแบบเลย์เอาท์ภาพรวมจำเป็นจะต้องเว้นพื้นที่สำหรับช่องทางวิ่งของรถฟอล์คลิฟท์ที่ใช้งาน นอกเหนือจากขนาดของรถแล้วความสูงที่รถฟอล์คลิฟท์สามารถยกได้ยังเป็นตัวกำหนดถึงความสูงของชั้นวางด้วยเช่นกัน ลองจินตนาการว่าหากออกแบบชั้นวางที่สามารถวางได้กว่า 12 เมตรขึ้นมาแต่ติดข้อจำกัดที่ทำได้เพียง 9 เมตร ความสูงที่เพิ่มขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้และอาจกลายเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าเกินความจำเป็น
Flow – ปัจจัยที่อาจมองไม่เห็นแต่ช่วยให้การใช้งานคลังสินค้าเกิดความคล่องตัวและสะดวกรวดเร็วได้อย่างเหลือเชื่อ โดย Flow นั้นจะเกี่ยวข้องกับการออกแบบพื้นที่เลย์เอาท์ ซึ่งตรงนี้สามารถคำนวณหรือคาดการณ์ความสามารถในกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ เช่น ในช่วงเวลาหนึ่งนั้นจะสามารถเคลื่อนย้ายหรือดำเนินการกับสินค้าอย่างไรได้จำนวนเท่าไหร่ หากในการออกแบบรู้แล้วว่า Flow การทำงานของคลังสินค้าเริ่มต้นจากจุดไหนและท้ายที่สุดจะไปจบที่จุดใด ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เห็นภาพของกิจกรรมในคลังได้อย่างชัดเจนและสามารถลดการทำงานซ้ำซ้อนที่อาจแฝงตัวอยู่ในการออกแบบที่ผิดพลาด

Storage Capacity – เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่อ้างอิงกับพื้นที่และความต้องการของลูกค้า เนื่องจากลูกค้าบางรายที่เคยใช้งานชั้นวางสินค้ามาบ้างแล้วมักจะมีปริมาณการใช้งานในใจ รวมถึงการคาดการณ์ความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคตซึ่งมักจะเป็นแนวโน้มที่สามารถจับต้องได้จริง การวางแผนรองรับปริมาณที่ต้องการให้สอดคล้องกับพื้นที่จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ปัจจัยเหล่านี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่สามารถใช้เพื่อเตรียมตัวก่อนการออกแบบหรือใช้ในการเจรจากับผู้ให้บริการออกแบบ Rack ชั้นวางสินค้าหรือคลังสินค้าให้มีความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคระยอง สาขาโลจิสติกส์ จัดการเรียนการสอนเน้นปฏิบัติงานจริง ประยุกต์ใช้ความรู้ในการทำงานด้านโลจิสติกส์ได้แน่นอน เรียนด้วยทำงานด้วยควบคู่กัน สร้างประสบการณ์ในการทำงานด้วยการฝึกงานในสถานประกอบการเฉพาะด้าน พร้อมพัฒนาทักษะไปด้วยกัน โปลีระยองให้มากกว่าที่คุณคิด
Comments